เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยครับ ว่าในปัจจุบัน นักการตลาดไทยต่างเล็งเห็นถึงโอกาสในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการที่ตนเองดูแลอยู่ สังเกตได้จากกิจกรรมทางการตลาดต่างที่มีออกมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง แฟนเพจ หรือทวิตเตอร์โปรไฟล์ บางแบรนด์ก็เริ่มลงทุนโฆษณาในเฟซบุ๊ค ในขณะที่บางแบรนด์ใช้วิธีจูงใจคนให้มากด Like ด้วยการแจกของฟรี เช่น Blackberry เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ว่ากิจกรรมต่างๆที่นักการตลาดได้สร้างขึ้นนั้น มาถูกทางแล้วหรือยัง
ผมได้มีโอกาสศึกษาบางส่วนของรายงานพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ของไทย ซึ่งจัดทำโดย TNS* พบว่า อันที่จริงแล้วคนไทยเราค่อนข้างตื่นตัวกับการใช้งานสังคมออนไลน์ไม่น้อย เราใช้งานเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่าง hi5 หรือ facebook อย่างน้อยประมาณ 15 ชม. ต่อสัปดาห์ มีเพื่อนออนไลน์เฉลี่ย 179 คน อย่างไรก็ตามเรายังค่อนข้างติดต่อกับแบรนด์สินค้าต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อย โดยเฉลี่ยแล้วคนแต่ละคน จะติดต่อกับสินค้า หรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต แค่ 3.5 แบรนด์เท่านั้นเอง น่าคิดนะครับ ถ้าหากนักการตลาดปรับเปลี่ยนวิธีการทางการสื่อสารให้มีความเป็นมิตรมากขึ้น เหมือนกับเพื่อนติดต่อ พูดคุยกัน น่าจะทำให้ผู้บริโภคออนไลน์ไทย ชอบมากขึ้นได้เช่นกัน
ผมจึงขอแนะนำให้ลองพิจารณาดูกันอีกทีครับ ว่า “เพื่อนที่ดี” เขาปฏิบัติอย่างไร และขอแนะนำให้นำมาประยุกต์ใช้กับแผนงานการสื่อสารการตลาดครับ
- เป็นผู้ฟังที่ดี ก่อนจะเริ่มโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า ต้องรู้จักฟังก่อนครับ เพื่อจะได้เข้าใจว่าลูกค้าคิดอะไรอยู่ หรืออย่างกรณีที่มีคนมาต่อว่าสินค้าเรา เราควรต้องตอบ หรืออย่างน้อยบอกให้เขารู้โดยเร็วว่าเรารู้แล้ว เพื่อให้เรารู้ว่าเราฟังเขาอยู่ตลอดเวลา
- มีความจริงใจ ห้ามโกหก ห้ามกุ หรือแต่งเรื่อง เราควรเล่าถึงจุดดีหรือ ประโยชน์ของสินค้า หรือบริการของเราที่มีต่อลูกค้า สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้
- ทำให้เรายิ้ม / หัวเราะได้ บางครั้งอาจต้องมีเรื่องสนุกสนาน หรือสร้างความประหลาดใจ (ในทางที่ดี) เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกชอบ และมีความสุขกับเรา อาจทำได้โดยผ่านงานโฆษณาเชิงขบขัน หรือ การให้ส่วนลด ของขวัญ ของกำนัลต่างๆ หรือแม้แต่สิ่งเล็กน้อยเช่นการกล่าวถึง คำพูด คติ ที่มีประโยชน์ หรือ น่ารัก สามารถสร้างรอยยิ้มได้
- มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกันเสมอ ในแต่ละปี มีช่วงเทศกาลที่คนไทยมักจะมีความสุข เฉลิมฉลอง สินค้าและบริการที่ไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ น่าจะได้ประโยชน์ (เปรียบเหมือนการเข้าไปคุยกับใครสักคน ในขณะที่เขากำลังอารมณ์ดี)
- ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ฟังปัญหาของลูกค้า ช่วยเหลือลูกค้าในกรณีที่เขาต้องการข้อมูล หรือคำแนะนำ หรือบริการหลังการขาย ในทุกๆ กรณี เพราะเพื่อนที่ดีจริงๆ มักให้ความช่วยเหลือโดยไม่เกี่ยงว่า เรื่องนั้นๆ เป็นความรับผิดชอบของตนเองหรือเปล่า
บางครั้ง ขอไม่เป็นเพื่อนได้ไหม …. แน่นอนว่าการที่ลูกค้าเห็นเราเป็นเพื่อน เป็นเรื่องที่ดีแน่นอนครับ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ ระหว่างแบรนด์ของเรากับลูกค้านั้น ควรจะถูกจำกัดรูปแบบไว้แค่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเท่านั้นหรือเปล่า ก็ไม่แน่นะครับ ลองคิดถึงน้องๆ ม.ต้นที่วันนี้อาจต้องการคำแนะนำจากพี่สาว ม.ปลาย เกี่ยวกับการแต่งตัว หรือแต่งหน้า หรือ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่มุ่งหวังจะได้รับคำแนะนำจากนักลงทุน หรือเจ้าของธุรกิจมืออาชีพ น่าคิดนะครับ แบรนด์ของเรา แม้ไม่ใช่เพื่อน แต่ก็อาจเลือกวางตัว และสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ กับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายในแบบที่เขาต้องการได้เช่นกันครับ