Posts Tagged digital media
สื่อออนไลน์ปีกระต่าย แรง แม่น ถี่
Posted by admin in Digital Marketing on December 29th, 2010
เข้าสู่ถึงช่วงปลายปีทีไร ก็ได้เวลาทักถามกันว่า นอกจากสรุปความเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมาแล้ว การคาดการณ์ปีหน้าเป็นอย่างไร ในตลาดไทยซึ่งระบบการสื่อสาร 3G ยังไปไม่ถึงไหน หลายคนเชื่อว่าทำให้การเติบโตของการสื่อสารข้อมูลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต้องหยุดชะงัก ในขณะเดียวกันอีกกระแสก็บอกว่า เทคโนโลยี Application ต่างๆ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ น่าจะมาแรงในปีหน้า เช่นเดียวกันกับการขยายตัวของอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับระบบ GPS ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานได้ เปิดโอกาสในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด เทคโนโลยีที่พัฒนาไปรวดเร็วต่างๆ เหล่านี้จะมีผลต่อพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย และการสื่อสารการตลาดมากน้อยเพียงไร ในบทความนี้ขอนำเสนอความเห็นของเราเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับปีกระต่ายที่จะมาถึงนี้
- Video content ระเบิดความนิยมไปในวงกว้าง
การแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการผลักให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงปี 2010 ความเร็วที่สูงขึ้นทำให้การเผยแพร่เนื้อหาเปิดกว้างไปยังรูปแบบวีดีโอได้ง่ายขึ้น สังเกตได้จากความนิยมในคลิปวีดีโอต่างๆใน Youtube ซึ่งขึ้นเป็นเว็บอันดับสี่รองจาก Google Facebook และ Live หรือ Hotmail ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากความนิยมในคลิปเหตุการณ์ความไม่สงบ คลิปมิวสิควีดีโอทั้งไทย สากล ลูกทุ่ง ละครช่องต่างๆ จะพาเหรดกันออกมาให้ชมแล้ว เราเชื่อแน่ว่า ในปี 2011 จะมีศิลปินไทยแจ้งเกิดผ่าน Youtube อีกมาก เช่นเดียวกันกับงานโฆษณาผ่านวีดีโอ ทั้งในแบบ Viral คลิปสั้นๆ และรูปแบบของ Webisode จะมีออกมาให้เห็นกันอย่างมากแน่นอนในระหว่างปีเพราะนี่คือสิ่งที่ถูกจริตคนไทยมากที่สุด เข้าใจง่าย ไม่ต้องอาศัยทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญยังอยู่ในรูปแบบที่เหมือนกันกับสื่อโทรทัศน์ คลิปอะไรที่ได้รับความนิยมในอินเทอร์เน็ตก็จะมีโอกาสถูกหยิบไปกระจายต่อผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อหลัก ในความเห็นของเราแล้วต้องขอยกให้เรื่องนี้เป็นแนวโน้มสำคัญที่สุดสำหรับวงการโฆษณาดิจิตอลไทยในปีกระต่ายนี้ครับ
- Mobile ไม่ได้เข้าถึงคนใหม่ๆ แต่เพิ่มความถี่
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีการถกเถียงกันมากเหลือเกินว่า ถึงเวลาของ Mobile หรือยัง มีการหยิบยกตัวเลขผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 69 ล้านเลขหมายขึ้นมาเป็นประเด็น ว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว เนื่องจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังกระจายตัวไม่มากนัก Mobile น่าจะมีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกันกับประเทศอย่างอินเดีย ในความเป็นจริงแล้วผู้ใช้งานมือถือในไทย ยังอิงการใช้งานเพื่อสื่อสารพูดคุยกันมากกว่า ส่วนกลุ่มที่ใช้งานข้อมูลในเชิง Data ไม่ว่าจะผ่าน iPad, iPhone, Blackberry, Android หรือที่น่าจับตาคือการกลับมาของ Windows Mobile 7 กลับเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว และนั่นทำให้เราเชื่อว่า สำหรับ Mobile ในปี 2011 ซึ่งแม้จะพ่วงมาด้วยกระแสความนิยมของ Application ในรูปแบบต่างๆ ก็ยังไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก เมื่อพิจารณาจากฐานผู้ใช้งาน ในทางกลับกัน นักการตลาดและโฆษณาเองน่าจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของการนำ Mobile Application มาใช้ เพื่อเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากเมื่อผู้ใช้งานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ได้
- Social Media นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ
เราได้ทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย มีพฤติกรรมหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ โดยการค้นหาผ่าน Google ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะยังอยู่ต่อไปในปี 2011 แต่สิ่งที่จะต่อยอดเพิ่มเติมขึ้นมา น่าจะเป็นผลการค้นหาจาก Google ที่เปลี่ยนไป ดึงเอาผลลัพธ์จาก Social Site ต่างๆมาแสดงผลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Blog, Twitter, Facebook นอกจากนี้คนไทยยังใช้เวลาใน Social media มากขึ้นด้วย นักการตลาดจึงอาจต้องหันมาให้ความสนใจกับการแพร่กระจายข้อมูลสินค้าหรือบริการ ประกอบการตัดสินใจซื้อ ให้มากขึ้น พอๆ กับการดูแลรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ - ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและแม่นยำมากขึ้น
นอกจากแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว แนวโน้มสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่น่าจะมีผลในการขับเคลื่อนการใช้งบประมาณสื่อดิจิตอลในปี 2011 คือ ความพร้อม ทางด้านข้อมูล ผลงานวิจัย ตั้งแต่ข้อมูลสถิติเว็บไซต์ และการใช้งานของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จากที่แต่ก่อนเราอ้างอิงจาก Truehits.net เป็นหลัก ในปี 2011 นี้ คนโฆษณาน่าจะมีทางเลือกมากขึ้นจากผู้ให้บริการใหม่ๆ เช่น Effective Measure รวมไปถึงรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากสำนักวิจัยต่างๆ เช่น TNS รวมถึงงานวิจัยของเอเยนซี่เองก็น่าจะเน้นส่วนที่เกี่ยวกับดิจิตอลมากขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ มากขึ้นแล้ว ความมั่นใจของนักการตลาด และเอเยนซี่ในการเลือกใช้สื่อก็จะมากขึ้นตาม ส่งผลต่อการเติบโตของสื่อดิจิตอลในปี 2011 ให้ แรง แม่น และถี่ ครับ
เขาคุยกับเพื่อนอย่างไร เรา(นักการตลาด)อาจต้องทำอย่างนั้น
Posted by siwat in Digital Marketing on December 18th, 2010
เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยครับ ว่าในปัจจุบัน นักการตลาดไทยต่างเล็งเห็นถึงโอกาสในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการที่ตนเองดูแลอยู่ สังเกตได้จากกิจกรรมทางการตลาดต่างที่มีออกมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง แฟนเพจ หรือทวิตเตอร์โปรไฟล์ บางแบรนด์ก็เริ่มลงทุนโฆษณาในเฟซบุ๊ค ในขณะที่บางแบรนด์ใช้วิธีจูงใจคนให้มากด Like ด้วยการแจกของฟรี เช่น Blackberry เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ว่ากิจกรรมต่างๆที่นักการตลาดได้สร้างขึ้นนั้น มาถูกทางแล้วหรือยัง
ผมได้มีโอกาสศึกษาบางส่วนของรายงานพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ของไทย ซึ่งจัดทำโดย TNS* พบว่า อันที่จริงแล้วคนไทยเราค่อนข้างตื่นตัวกับการใช้งานสังคมออนไลน์ไม่น้อย เราใช้งานเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่าง hi5 หรือ facebook อย่างน้อยประมาณ 15 ชม. ต่อสัปดาห์ มีเพื่อนออนไลน์เฉลี่ย 179 คน อย่างไรก็ตามเรายังค่อนข้างติดต่อกับแบรนด์สินค้าต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อย โดยเฉลี่ยแล้วคนแต่ละคน จะติดต่อกับสินค้า หรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต แค่ 3.5 แบรนด์เท่านั้นเอง น่าคิดนะครับ ถ้าหากนักการตลาดปรับเปลี่ยนวิธีการทางการสื่อสารให้มีความเป็นมิตรมากขึ้น เหมือนกับเพื่อนติดต่อ พูดคุยกัน น่าจะทำให้ผู้บริโภคออนไลน์ไทย ชอบมากขึ้นได้เช่นกัน
ผมจึงขอแนะนำให้ลองพิจารณาดูกันอีกทีครับ ว่า “เพื่อนที่ดี” เขาปฏิบัติอย่างไร และขอแนะนำให้นำมาประยุกต์ใช้กับแผนงานการสื่อสารการตลาดครับ
- เป็นผู้ฟังที่ดี ก่อนจะเริ่มโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า ต้องรู้จักฟังก่อนครับ เพื่อจะได้เข้าใจว่าลูกค้าคิดอะไรอยู่ หรืออย่างกรณีที่มีคนมาต่อว่าสินค้าเรา เราควรต้องตอบ หรืออย่างน้อยบอกให้เขารู้โดยเร็วว่าเรารู้แล้ว เพื่อให้เรารู้ว่าเราฟังเขาอยู่ตลอดเวลา
- มีความจริงใจ ห้ามโกหก ห้ามกุ หรือแต่งเรื่อง เราควรเล่าถึงจุดดีหรือ ประโยชน์ของสินค้า หรือบริการของเราที่มีต่อลูกค้า สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้
- ทำให้เรายิ้ม / หัวเราะได้ บางครั้งอาจต้องมีเรื่องสนุกสนาน หรือสร้างความประหลาดใจ (ในทางที่ดี) เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกชอบ และมีความสุขกับเรา อาจทำได้โดยผ่านงานโฆษณาเชิงขบขัน หรือ การให้ส่วนลด ของขวัญ ของกำนัลต่างๆ หรือแม้แต่สิ่งเล็กน้อยเช่นการกล่าวถึง คำพูด คติ ที่มีประโยชน์ หรือ น่ารัก สามารถสร้างรอยยิ้มได้
- มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกันเสมอ ในแต่ละปี มีช่วงเทศกาลที่คนไทยมักจะมีความสุข เฉลิมฉลอง สินค้าและบริการที่ไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ น่าจะได้ประโยชน์ (เปรียบเหมือนการเข้าไปคุยกับใครสักคน ในขณะที่เขากำลังอารมณ์ดี)
- ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ฟังปัญหาของลูกค้า ช่วยเหลือลูกค้าในกรณีที่เขาต้องการข้อมูล หรือคำแนะนำ หรือบริการหลังการขาย ในทุกๆ กรณี เพราะเพื่อนที่ดีจริงๆ มักให้ความช่วยเหลือโดยไม่เกี่ยงว่า เรื่องนั้นๆ เป็นความรับผิดชอบของตนเองหรือเปล่า
บางครั้ง ขอไม่เป็นเพื่อนได้ไหม …. แน่นอนว่าการที่ลูกค้าเห็นเราเป็นเพื่อน เป็นเรื่องที่ดีแน่นอนครับ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ ระหว่างแบรนด์ของเรากับลูกค้านั้น ควรจะถูกจำกัดรูปแบบไว้แค่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเท่านั้นหรือเปล่า ก็ไม่แน่นะครับ ลองคิดถึงน้องๆ ม.ต้นที่วันนี้อาจต้องการคำแนะนำจากพี่สาว ม.ปลาย เกี่ยวกับการแต่งตัว หรือแต่งหน้า หรือ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่มุ่งหวังจะได้รับคำแนะนำจากนักลงทุน หรือเจ้าของธุรกิจมืออาชีพ น่าคิดนะครับ แบรนด์ของเรา แม้ไม่ใช่เพื่อน แต่ก็อาจเลือกวางตัว และสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ กับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายในแบบที่เขาต้องการได้เช่นกันครับ